ติดต่อเรา

ประวัติมูลนิธิ

ประวัติศิริราชมูลนิธิ

 

ศิริราชมูลนิธิ เป็นองค์กรนิติบุคคล จดทะเบียนตามกฏหมาย ณ ศาลากลางจังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2512 มีสำนักงานอยู่ ณ ตึกอำนวยการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เลขที่ 2 ถนนพรานนก ตำบลศิริราช อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

 

มูลนิธิได้ก่อตั้งขึ้นโดยมีทุนจดทะเบียนเพียง 30,000.00 บาท (สามหมื่นบาท) ด้วยเจตนารมณ์ที่จะให้มีองค์กรนิติบุคคลที่มิใช่หน่วยงานราชการ ทำหน้าที่ รวบรวม เก็บรักษา บริหารเงินบริจาคที่ผู้มีจิตศรัทธาสมทบบริจาค สำหรับเกื้อกูลกิจการของ “ศิริราช” คือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

คณะผู้ก่อตั้งเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะ ฯ เรื่องผ่านต่อไปถึงสภามหาวิทยาลัยมหิดลและได้รับอนุมัติและตั้งชื่อว่า “ศิริราชมูลนิธิ”

 

คณะกรรมการก่อตั้งศิริราชมูลนิธิ

  1. ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ประธานกรรมการ
  2. ศาสตราจารย์ นายแพทย์โรจน์ สุวรรณสุทธิ กรรมการ
  3. ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรี กรรมการ
  4. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ดิเรก  พงศ์พิพัฒน์ กรรมการ
  5. ศาสตราจารย์ นายแพทย์สำราญ  วังศพ่าห์ กรรมการ
  6. ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม  ลิ่มวงศ์ กรรมการ
  7. ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมชัย  บวรกิตติ กรรมการ
  8. ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิฑูรย์  อึ้งประพันธ์ กรรมการ

พ.ศ. 2428

พ.ศ. 2430

พ.ศ. 2431

พ.ศ. 2512

พ.ศ. 2538

พ.ศ. 2551

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
ประสูติ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสองค์ที่ ๕ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 เวลา 14.06 น. ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร ในค่ำคืนนั้น มี ปรากฏการณ์ฝนดาวตก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงงพระนิพนธ์จดหมายเหตุรายวันว่า “ ตกมากจริง ๆ ลางทีก็เห็นย้อยลงมายาวคล้ายดอกไม้เพลิง ” ฝนดาวตกครั้งนี้มีดาวตกเต็มท้องฟ้า มองเห็นได้ทั่วโลก คนในวังจึงขนานพระนามเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ว่า “ ทูลกระหม่อมดาวร่วง ” สมเด็จพระชนกนาถทรงเรียกพระราชโอรสว่า “ ลูกเอียด ” หรือ “ ทูลกระหม่อมเอียด ” เมื่อวันที่ 28-29 ธันวาคม 2428 มีพิธีพระราชสมโภชเดือน พระราชทานพระนามว่า “ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สรรพวิสุทธิมหุดิมงคล อเนกนภดลดารารัตน์ สมันตบริพัตรวโรภาส อดิศรราชจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพวโรรส วิสุทธิสมมตวโร ภโตปักษ์อุกฤษฐศักดิ์ อรรควรราชกุมาร ”

สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
ทรงประชวร

ครั้นเมื่อพระชันษา 1 ปี 6 เดือน สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ทรงประชวร โปรดให้ชุมนุมหมอเชลยศักดิ์ถวายพระโอสถ วันที่ 31 พฤษภาคม 2430 พระอาการประชวรมากขึ้น และทรุดลงจนเวลา 7 ทุ่ม 24 นาที สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์สิ้นพระชนม์ในพระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงพระอาลัยเศร้าโศกเป็นที่ยิ่ง และโดยเฉพาะตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และวันสิ้นพระชนม์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือว่าเป็น “ วันโชคร้าย ” สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาเพียง 1 ปี 6 เดือน 4 วัน ในปีเดียวกันนี้เอง (พ.ศ. 2430) พระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถสิ้นพระชนม์ถึง 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรรุตมธำรง พระราชโอรสองค์ที่ 2 นอกจากนี้ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ก็สิ้นพระชนม์ในปีนี้เช่นกัน ได้มีการอัญเชิญพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ไว้ที่หอธรรมสังเวช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดการพระเมรุครั้งนี้เป็นงานใหญ่ โปรดเกล้า ฯ ให้สมด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช เป็นแม่กอง พระยาราชสงคราม (ทัด) เป็นนายช่าง ทำพระเมรุ 9 ยอด มีพระที่นั่งทรงธรรม 4 มุขแล่นตลอดถึงพระเมรุ บริเวณพระเมรุมีสวนไม้ดอกไม้ผลไม้ดัดล้อม โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือนรูปต่าง ๆ รอบพระเมรุ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี ทรงเสด็จ ฯ ไปพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เมื่อเสร็จการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าพระราชทานเรือนเหล่านี้ ตู้ที่ตั้งรอบพระเมรุและเครื่องโต๊ะต่าง ๆ รวมทั้งเตียงเก้าอี้ที่ใช้แห่เมื่อวันชักพระศพให้แก่โรงพยาบาลเป็นส่วนพระราชกุศลพิเศษ พระราชทานเงินของสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์จำนวน 700 ชั่ง แก่คอมมิตตีในการจัดการก่อสร้างและเป็นทุนสำหรับโรงพยาบาลที่วังหลัง ครั้นถึงปลาย พ.ศ. 2430 โรงพยาบาลใหญ่ที่วังหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ

ประกาศเปิดโรงพยาบาล

คอมมิตตีได้ประกาศเปิดโรงพยาบาลรับรักษาโรคต่าง ๆ ในวันที่ 26 เมษายน 2431 จนกระทั่งถึงเดือนธันวาคม 2431 คอมมิตตีจึงกราบทูลเกล้าฯถวายรายงานการเปิดและจัดการโรงพยาบาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาตอบ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ความตอนหนึ่งว่า “ ...... โรงพยาบาลนี้ได้คิดมาช้านาน อยากจะให้มีขึ้นได้ในทันใด แต่การนั้นไม่สำเร็จไปได้ตลอด จนได้ตั้งใจแลออกปากอยู่เนื่อง ๆ ว่าถ้าจะตายจะขอแบ่งเงินพระคลังข้างที่เป็นส่วนหนึ่ง มอบไว้สำหรับใช้ในการโรงพยาบาล แลสั่งไว้ขอให้จัดการให้ได้สำเร็จดังประสงค์ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะคิดจัดการให้มีขึ้นจงได้ แลจะอุดหนุนการโรงพยาบาลด้วยทุนรอนส่วนหนึ่ง ไม่ชักเงินที่เป็นส่วนมรดกซึ่งกำหนดว่าจะให้นั้นมาใช้ แลมีอำนาจที่จะใช้เงินแผ่นดินได้อยู่ ก็จะใช้เงินแผ่นดินเป็นรากเหง้าของการโรงพยาบาลบ้างตามสมควร การที่คิดไว้นี้ได้ทดลองจะจัดการบ้าง ก็ยังไม่เห็นว่าจะเป็นการถาวรมั่นคงได้ ภายหลังเกิดวิบัติเคราะห์ร้าย ลูกซึ่งเป็นที่รักตายเป็นที่สลดใจ ด้วยการที่รักษาไข้เจ็บ เห็นว่า แต่ลูกเราพิทักษ์รักษาเพียงนี้ยังได้ความทุกขเวทนาแสนสาหัส ลูกราษฎรที่อนาถาทั้งปวงจะได้ความลำบากทุกขเวทนายิ่งกว่านี้ประการใด ยิ่งทำให้มีความปราถนาที่จะให้มีโรงพยาบาลยิ่งขึ้น ภายหลังกรมหมื่นดำรงราชานุภาพคิดการที่จะตั้งโรงพยาบาลทำความเห็นมายื่น เห็นว่าเป็นทางที่จะจัดการตลอดได้ จึงได้ตั้งท่านทั้งหลายเป็นคอมมิตตีจัดการ แลได้ปรึกษากับแม่เล็กเสาวภาผ่องศรี มีความชื่นชมในการที่จะสงเคราะห์แก่คนที่ได้ความลำบากด้วยป่วยไข้นี้ด้วย ยอมยกทรัพย์สมบัติของลูกที่ตาย ให้เป็นส่วนในการทำโรงพยาบาลนี้เป็นต้นทุน .... ” มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งกรมพยาบาลดูแลกิจการโรงพยาบาลแทนคอมมิตตี และพระราชทานชื่อโรงพยาบาลใหญ่ที่วังหลังว่า “ โรงพยาบาลศิริราช ” เป็นพระราชอนุสรณ์ และศิริมงคลแก่โรงพยาบาลแห่งนี้สืบเนื่องมา

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นองค์ประธาน

คณะกรรมการศิริราชมูลนิธิได้ขอพระราชทานกราบทูลเชิญ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พระยศขณะนั้นสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์) เป็นองค์ประธานศิริราชมูลนิธิ ตั้งแต่ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2512 จนกระทั่งเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เป็นองค์ประธาน

คณะกรรมการศิริราชมูลนิธิได้ขอพระราชทานกราบทูลเชิญ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นองค์ประธานศิริราชมูลนิธิ ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2538 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี
เป็นองค์ประธาน

คณะกรรมการศิริราชมูลนิธิได้ขอพระราชทานกราบทูลเชิญ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานศิริราชมูลนิธิ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2551 เป็นองค์ประธานถาวร ไม่มีวาระ

ชื่อ

ศิริราชมูลนิธิ (ศ.ม.)

SIRIRAJ FOUNDATION (S.F.)

วิสัยทัศน์

ศิริราชมูลนิธิ เป็นองค์กรมาตรฐานสูง มีคุณภาพ โปร่งใส สนับสนุนภารกิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลสู่ความเป็นเลิศ

ตราสัญลักษณ์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ตราที่มีพระรูป “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์” เป็นตราประจำศิริราชมูลนิธิ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร โปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตามที่ขอพระราชทานพระมหากรุณาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2512

ตราแรกเริ่ม

ตราปัจจุบัน

คำขวัญ

  • การบริจาคของท่านแม้เพียงเล็กน้อย ย่อมมีคุณต่อศิริราชเสมอ
  • สุขถาวร คือ สุขใจ สุขที่ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน
  • ผลบุญแห่งเมตตา เป็นดั่งน้ำทิพย์ชะโลมใจให้อิ่มเอม

คำขอบคุณ

ศิริราชมูลนิธิขอขอบพระคุณและอนุโมทนาการบริจาค
ของท่านอันเป็นสาธารณประโยชน์โดยทั่วกัน

ภารกิจโรงพยาบาลศิริราช 2558

ภารกิจ
  1. บริการการแพทย์ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ตามพระราชประสงค์
  2. พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการบริการการแพทย์ของโรงพยาบาล
  3. จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้พอเพียงและทันสมัยสู่ความเป็นเลิศ

 

การดำเนินการและภารกิจของศิริราชมูลนิธิ 2558 การบริหารศิริราชมูลนิธิ
  1. ศิริราชมูลนิธิบริหารงานโดยคณะกรรมการศิริราชมูลนิธิ (กรรมการบริหาร) ประกอบด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธาน กำหนดให้มีการประชุมปีละ 3 ครั้ง และกรรมการดำเนินงานอันมีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ทำหน้าที่เป็นประธานจัดให้มีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง
  2. ประชุมคณะกรรมการศิริราชมูลนิธิ เพื่อวางแผนดำเนินการมูลนิธิให้ได้ตามวัตถุประสงค์
  3. นำมติที่ประชุมไปดำเนินการ และเผยแพร่ข่าวสารให้ผู้บริจาคทราบกิจการต่าง ๆ ที่ผ่านมา
  4. บริหารการเงินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามภาระกิจของโรงพยาบาลศิริราช และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าเงินและสิ่งของที่มีผู้บริจาค และการใช้เงินบริจาคให้เกิดประโยชน์สมบูรณ์สมเจตนาของผู้บริจาค

 

การใช้เงินบริจาค 2558
  1. ช่วยค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ (ค่ายาและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการวินิจฉัยและรักษา)
  2. สนับสนุนคณะ ฯ ในการสร้างและหรือปรับปรุงหอบริการผู้ป่วย จัดหาอุปกรณ์การแพทย์ (ชดเชยของหมดอายุ และจัดหาอุปกรณ์ที่ทันสมัย)
  3. พัฒนาบุคลากรการแพทย์ (ด้านการศึกษา อบรมและวิจัย)
  4. บริหารงานในสำนักงานมูลนิธิ
  5. ร่วมกับคณะฯในการพิจารณาอนุมัติการขอใช้เงินบริจาค (ตามความจำเป็นและเหมาะสม)
  6. สนับสนุนช่วยเหลือมูลนิธิอื่น ๆ ตามความเหมาะสม